Algorithm ของ Google

รู้จักกับ Googlebot สำหรับ Mobile

เพื่อความเข้าใจตรงกัน ก่อนอื่นเราจะต้องรู้ว่าในการ index หน้าเว็บต่างๆ Google จะทำผ่านสิ่งที่เรียกว่า Googlebot ซึ่งมันก็คือหุ่นยนต์ที่มีหน้าที่เก็บข้อมูลจากหน้าเว็บ โดยเจ้าหุ่นยนต์ที่ว่านี้จะอาศัยลิ้งค์ต่างๆ ที่อยู่ในหน้าเว็บนั้นๆ ในการเดินทางต่อไปยังหน้าเว็บอื่นๆ ครับ
Googlebot นั้นจะมีอยู่หลายตัวด้วยกันนะครับ ผมขอแบ่งแบบหยาบๆ เลยก็จะมีแบบที่ Google เอาไว้ index หน้าเว็บทั่วไป กับแบบที่เอาไว้ index หน้าเว็บสำหรับ mobile device ครับ ซึ่งสิ่งที่ต่างกันระหว่าง 2 แบบนี้ก็คือ user-agent นั่นเอง
สำหรับเว็บที่เป็นแบบ responsive แล้ว user-agent จะไม่มีผลอะไรครับ เพราะมันจะสนแต่ขนาดของ viewport เท่านั้น แต่สำหรับเว็บที่ใช้วิธีดัก user-agent เพื่อเอาไว้แยกการแสดงผลสำหรับเวอร์ชั่น mobile นั้น สิ่งที่ Googlebot แบบ mobile ได้ไปก็จะเป็นเว็บในเวอร์ชั่น mobile ครับ

สาเหตุที่ Goole ต้องปรับ Algorithm

Google มองว่า algorithm ที่ใช้อยู่เดิมนั้นยังไม่ค่อยเหมาะกับการค้นหาด้วย mobile device ครับ สมมติเราค้นหาร้านอาหารเพื่อทานมื้อกลางวันด้วยมือถือ เราอาจพบว่าผลลัพธ์ที่ได้มานั้นตรงกับคีย์เวิร์ดที่เราค้นหาไปก็จริง แต่พอกดเข้าเว็บไปแล้ว กลับต้องมาหงุดหงิดกับตัวหนังสือที่มีขนาดเล็กเกินไป แถมยังโหลดช้าเอามากๆ เนื่องจากเว็บนั้นไม่ได้คำนึงถึง mobile users เลย
ด้วยเหตุนี้เอง Google จึงจำเป็นต้องปรับ algorithm ครั้งใหญ่ โดยจุดประสงค์นั้นก็เพื่อให้ mobile users ได้รับความพึงพอใจสูงสุดในการค้นหานั่นเองครับ ซึ่งนิยามของความพึงพอใจนั้นก็มีอยู่หลายแง่ด้วยกัน แต่หลักๆ เลยก็จะเป็นการออกแบบที่ทำให้ใช้งานได้ง่ายใน mobile device และ ความเร็วในการโหลดนั่นเองครับ

Mobile-Friendly

Google ออกมาบอกเองว่าจะใช้เกณฑ์นี้ในการจัดอันดับในหน้าผลการค้นหาครับ นั่นแปลว่าเราจะต้องทำเว็บเราให้ใช้งานได้ง่ายใน mobile device ด้วย ซึ่งวิธีที่นิยมมากที่สุดเลยก็คือการทำ Responsive Web Design นั่นเองครับ
ส่วนอีกวิธีที่นิยมกันก็คือการทำ mobile site หรือการแยกเวอร์ชั่นไปเลยนั่นเองครับ วิธีนี้จะมีข้อดีตรงที่โค้ดจะสะอาดกว่า เพราะจะใส่แต่ของที่จำเป็นสำหรับ mobile device เท่านั้น (ทำให้เร็วกว่าวิธี responsive web design) แต่ข้อเสียจะอยู่ตรงที่การดูแลเว็บครับ เพราะเราจะต้องมาทำทั้ง 2 เวอร์ชั่นเลย
สำหรับเกณฑ์เรื่อง Mobile-Friendly นี้ ผมถือว่าผ่านได้ไม่ยากเลยนะครับ ให้เราเข้าไปเทสเว็บของเราได้ที่ Mobile-Friendly Test ซึ่งจากเท่าที่เคยลองเทสมา ขอแค่เป็น responsive web หรือ mobile site ก็น่าจะผ่านหมดแล้วล่ะครับ

PageSpeed

ส่วนข้อนี้ถึงแม้ว่า Google จะไม่ได้บอกว่าจะนำมาใช้ประกอบในการจัดอันดับในรอบนี้ด้วย แต่ส่วนตัวผมคิดว่าไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ทำให้มันโหลดเร็วไปด้วยเลยจะดีกว่าครับ ให้เราเข้าไปเทส PageSpeed กับ Google ได้ที่ PageSpeed Insights ซึ่งจะแสดงคะแนน PageSpeed ออกมาให้เราดูทั้งเวอร์ชั่น mobile และ desktop เลย
ผมแนะนำให้ลองเทสที่หน้าอ่านเนื้อหาของเราครับ พยายามทำให้เวอร์ชั่น mobile ได้ 70 คะแนนขึ้นไป เผื่อวันดีคืนดี Google จะนำ PageSpeed มาใช้ในการจัดอันดับด้วย แต่ถึง Google จะไม่ใช้ เชื่อเถอะครับว่ามันส่งผลโดยตรงต่อความสุขในการเล่นเว็บของ users อย่างแน่นอน

บทสรุป

ผมมีความเชื่อนะครับว่า ทุกครั้งที่ Google ปรับ algorithm ล้วนเกิดจากความต้องการที่จะทำให้ผู้ใช้งานได้รับสิ่งที่ตรงกับความต้องการมากที่สุดไป อย่างในรอบนี้ ผมมั่นใจว่าเพื่อนๆ หลายๆคน สามารถผ่านเกณฑ์ของ Google ได้อย่างสบายๆ โดยที่ไม่ต้องปรับอะไรเลย เพราะ SiamHTML พยายามนำเสนอมาตลอดว่าการคำนึงถึงผู้ใช้งานนั้นเป็นสิ่งสำคัญ หากเรายึดแนวคิดนี้ไปเรื่อยๆ ผมมองว่าสุดท้ายแล้ว สิ่งที่เราทำกับสิ่งที่ Google อยากให้เป็น จะค่อยๆ วิ่งมาบรรจบกันในที่สุดครับ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทัวร์ฮ่องกง

เทคนิคขายรถมือสองที่คุณควรรู้

ต้องสูงเท่าไรถึงจะได้เป็นแอร์ - นานสาระ